เสมา 1 เปิดสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ปี 2566 "สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย”
เสมา 1 เปิดสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ปี 2566 "สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย” ชูบทบาทสภานักเรียนคือความหวังในการธำรงความเป็นชาติไทยผ่านวิชาประวัติศาสตร์ พร้อมขยายผลเปิดเวทีให้สภานักเรียนโรงเรียนในสังกัดกว่า 30,000 แห่ง นำเสนอแนวทางเพื่อการพัฒนาทุกมิติรอบด้านอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
วันนี้ (11 ม.ค. 2566) เวลา 09.00 น. ที่ Ubrino Room โรงแรมเดอะพาลาสโซ่ ถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "สภานักเรียน สพฐ. สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย” และบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนบทบาทสภานักเรียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะวิทยากร คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ รุ่นพี่สภานักเรียน สื่อมวลชน และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง

โอกาสนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมนิทรรศการความสำเร็จพร้อมทั้งรับชมการนำเสนอผลการขับเคลื่อนงานบทบาทของสภานักเรียนของโรงเรียนบ้านสวนหลวง (รัตนวิจิตรพิทยาคาร) จังหวัดสมุทรสาคร และเยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนงานส่งเสริมประชาธิปไตยและสภานักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ในพระบรมราชานุเคราะห์ จังหวัดสมุทรปราการ และโรงเรียนวัดราชโอรส กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2565 โดยมีคณะกรรมการสภานักเรียนเป็นผู้นำเสนอผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้กำลังใจรวมทั้งชื่นชมการดำเนินงานที่เข้มแข็งตามบทบาทหน้าที่ของสภานักเรียนพร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำหน้าที่เป็นผู้นำนักเรียนที่มีคุณธรรมนำพาเพื่อนนักเรียนให้เป็นผู้มีความรู้เท่าทันและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาเจอน้อง ๆ คณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ ที่เป็นผู้นำและเป็นตัวแทนนักเรียนในระดับจังหวัด ซึ่งต้องขอบคุณ สพฐ. ที่ได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 16 ปี แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้ทำกิจกรรมแบบเห็นหน้าค่าตากัน แต่ด้วยศักยภาพของน้อง ๆ ผู้นำนักเรียนทุกคน ซึ่งได้สะท้อนผ่านการนำเสนอผลงานที่ตนได้เยี่ยมชมนิทรรศการทำให้ได้เห็นว่าน้อง ๆ สภานักเรียนไม่เคยหยุดที่จะคิดพัฒนา ไม่เคยหยุดกระบวนการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แม้ไม่ได้เจอหน้ากัน ก็มีการเลือกตั้ง การโหวตแบบออนไลน์ มีการพัฒนารูปแบบปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของพลวัตทางสังคม นับได้ว่าน้อง ๆ ทุกท่านล้วนเป็นเยาวชนตัวอย่างและต้นแบบสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนและสภานักเรียนในจังหวัด จึงขอให้ได้ใช้เวทีกิจกรรมสภานักเรียนระดับประเทศในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาตนเอง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้รับการถ่ายทอดแนวคิด มุมมองจากท่านวิทยากรซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีองค์ความรู้ที่น่าสนใจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปรับใช้เข้ากับบริบทของโรงเรียนและภูมิสังคมในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

"พวกเราในฐานะสภานักเรียนที่มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องของการดูแลและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และสถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทของการเรียนการสอนทุกวันนี้ จะต้องมุ่งเน้นให้นักเรียนทุกคนได้รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คือ "หัวใจและหลักชัยของประเทศไทย” ที่ทำให้ประเทศไทยดำรงคงอยู่เป็นชาติ และยังความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านทรัพยากร สติปัญญา และ Soft Power มาได้ถึงทุกวันนี้ ซึ่งน้อง ๆ สภานักเรียนทุกคนถือเป็นแกนนำคนสำคัญที่จะได้นำหลักประชาธิปไตยรวมทั้งน้อมนำหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งหยั่งลึกถึงจิตวิญญาณความเป็นคนไทยของพวกเราทุกคน ด้วยการมีส่วนร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมนำเสนอ แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย เฉกเช่นที่เราจะเห็นการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในต่างประเทศที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้คนในชาติได้เห็นคุณค่า ชื่นชม บ่มเพาะ จิตวิญญาณความเป็นชาติ และมีความตื่นตัวอย่างมากในทุกมิติ ซึ่ง "ประเทศไทย”ของพวกเราทุกคน มีความงดงาม มีที่มาทางวัฒนธรรม และมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงด้วยสถาบันหลักทั้ง 3 คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญว่า เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่มาของตัวเราเองว่ามีที่มาอย่างไร และทำอย่างไรให้บริบทของประวัติศาสตร์มีความน่าสนใจ สามารถเข้าถึงได้ สามารถรู้ได้ โดยไม่เน้นท่องจำ แต่ต้องปรับวิธีการเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ควบคู่การเรียนรู้หลักประชาธิปไตย และการเคารพในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” รมว.ศธ. กล่าวเน้นย้ำ

รมว.ศธ. ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังให้ความสำคัญในเรื่อง "ความปลอดภัย” มาโดยตลอด ทั้งมิติด้านความรุนแรงในโรงเรียน นอกโรงเรียน และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่จู่โจมมีพลวัตมากมายอันส่งผลต่อพฤติกรรมด้านต่าง ๆ โดยน้อง ๆ ทุกคนในฐานะประธานนักเรียนและคณะกรรมการสภานักเรียนเป็นกลุ่มแกนนำนักเรียนที่เป็นหน่วยสำคัญที่ต้องช่วยกันคิดว่า ในบริบทโรงเรียน ในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน เราจะต้องสร้างมาตรการอะไรเพื่อช่วยเหลือให้เกิดความปลอดภัยให้กับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนในทุกมิติ อาทิ ยาเสพติด เกม การพนันออนไลน์ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสังคมที่มีหลายทิศทางรอบด้าน และเปิดพื้นที่ เปิดเวที ให้น้อง ๆ ได้ช่วยกันคิด ร่วมกับคุณครูเพื่อหาแนวทางและกระบวนการต่าง ๆ นำเสนอโรงเรียน เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเสนอมายังกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

"ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เปิดเวทีให้น้อง ๆ สภานักเรียนทั้งกว่า 30,000 โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ช่วยกันหาแนวทาง ช่วยกันระดมความเห็นและนำความคิดเห็น แนวคิดใหม่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปใหม่ ๆ เช่น เรียนประวัติศาสตร์อย่างไรให้สนุก ทำอย่างไรให้นักเรียนได้เข้าใจบริบทความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงช่วยกันนำเสนอกลไกเรื่องความปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศ และเรื่องอื่น ๆ ที่น้อง ๆ อยากจะนำเสนอ อยากจะเสนอแนะในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้นำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดและกำหนดนโยบายต่อไป” รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติม
รมว.ศธ. กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนบทบาทของสภานักเรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่าง และขอให้คณะกรรมการสภานักเรียนที่มีสถานะทั้งในฐานะผู้เรียน ในฐานะอนาคตของชาติ และคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ และคุณครูที่ปรึกษาทุกท่าน ได้นำประสบการณ์ที่มีคุณค่าไปถ่ายทอดให้เพื่อนนักเรียนและคุณครูในโรงเรียน ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อขยายผลให้บังเกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการสภานักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย เคารพในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าใจความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม มีกลไกกระบวนการดำเนินงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียนด้วยกระบวนการอย่างสร้างสรรค์ สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสังคมได้อย่างถูก
ต้อง เหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกา ร่วมทั้งการส่งเสริมให้เกิด Soft Power ขยายและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง พัฒนาตนเองได้ตามบริบท โดยการอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 14 มกราคม 2566 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าอบรมเป็นตัวแทนสภานักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดละ 1 คน พร้อมครูที่ปรึกษาสภานักเรียน 1 คน มีกิจกรรมภาคบรรยาย ภาคปฏิบัติ และการศึกษาดูงานที่น่าสนใจ อาทิ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประวัติศาสตร์ชาติไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับข้อมูลข่าวสาร New media อย่างมีประสิทธิภาพ สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย MOE Safety Center โดยจะมีการเลือกตั้งประธานสภานักเรียนและคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันที่ 13 มกราคม 2566 และคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศจะเข้าคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคม 2566 นี้ พร้อมทั้งเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาล และอาคารรัฐสภา อีกด้วย
กล่องแสดงความคิดเห็น